โรคผิวหนัง พบได้ในสัตว์เลี้ยงแทบทุกชนิด มักมีอาการคัน ผิวหนังแดง สัตว์จะเกา เป็นสะเก็ด และหลุดออก และที่สำคัญอาจจะติดต่อมาสู้คนด้วย ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น เชื้อรา แบคทีเรียต่าง ๆ และภูมิแพ้ เป็นต้น ในกรณีที่เป็นโรคเชื้อราในสัตว์เลี้ยง ผิวหนังจะเป็นวง ขนร่วง ขอบรอยมีการหนาตัวเล็กน้อย แม้ว่าจะจะรุนแรงจนถึงชีวิต แต่ก็สร้างความกังวลให้ผู้เลี้ยงในระดับหนึ่งทีเดียว
โรคผิวหนังจากเชื้อราในสัตว์เลี้ยง หากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลาม
เชื้อราจากแมว
พบได้บ่อยคือ Microporum Canis เป็นเชื้อราที่อยู่บนผิวหนัง ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ติดต่อมายังคนได้จากการสัมผัสโดยตรง โดยไม่จำเป็นที่ต้องมีบาดแผล ทำให้ผู้ที่เลี้ยงติดเชื้อราจากแมวได้ง่าย จากพฤติกรรมเสี่ยงเช่น การอุ้ม กอด จูบ นอนร่วมที่นอนเดียวกัน เป็นต้น โดยอาการของการติดเชื้อจะมีผื่นแดงตามผิวหนัง ลักษณะเป็นวง มีขุยรอบ ๆ จากนั้นค่อย ๆ ขยายออกไปเป็นวงกว้าง คันอยู่ตลอดเวลา หากเกาบริเวณที่เป็นแล้วไปถูส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็จะติดเชื้อนี้ไปด้วย
เชื้อราที่เกิดในสุนัข
เรียกว่า Dermatophytosis หรือ Ringworm เกิดขึ้นได้ในตำแหน่งที่ร่างกายมีการสร้างเคราติน เช่น ผิวหนังกำพร้าในชั้นขี้ไคล เส้นขน รวมถึงเล็บ เป็นต้น แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ Microsporum Canis โดยเชื้อชนิดนี้พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากสปอร์ที่อยู่ทั่วไปในอากาศ หรืออาจจะมาจากแปรง หวี รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ กลุ่ม Microsporum Gypseum ซึ่งปกติจะพบตามพื้นดิน โดยสัตว์เลี้ยงอาจจะติดเชื้อหรือไม่ติดก็ได้ และ Trichophyton Mentagrophytes สาเหตุมาจากสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก เช่น หนู กระรอก เป็นต้น เป็นพาหะติดเชื้อ หากสัตว์เลี้ยงของเรามีการสัมผัสสัตว์พวกนี้ก็จะสามารถติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากบริเวณผิวหนังโคนใบหู ใต้คอ ขาหนีบ โคนหาง หูส่วนนอก และใบหูทางด้านใน โดยจะมีอาการขนร่วง หนา และกระด้าง สีเปลี่ยนไม่มีไขมัน มีความแห้งหรือเหลวปกคลุม คันและมีกลิ่นเหม็น คัน อักเสบ พบได้แทบทุกอายุ และสายพันธุ์
ซึ่งโรคเชื้อราในสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสและใช้ของบางชนิดร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ที่นอน เป็นต้น แต่อาจจะไม่มีอาการที่รุนแรงเท่ากับพวกมัน เนื่องจากเป็นการติดต่อแบบข้ามสายพันธุ์
วิธีการรักษาการติดเชื้อราในสัตว์เลี้ยง
หากมีอาการน้อย มีผื่นขึ้นเล็กน้อยไม่มากนัก ประมาณ 1-2 จุดให้ใช้ยาฆ่าเชื้อราอย่างต่อเนื่องทาติดต่อกันประมาณ 3 สัปดาห์ ผื่นจะค่อย ๆ หายไป หากมีอาการมาก มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย ต้องใช้ทั้งการทายา และกินยาร่วมกัน อาจใช้ระยะเวลาในการรักษาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป
ในส่วนของโรคเชื้อราในสัตว์เลี้ยงที่เป็นมากจนเกินกว่าจะรักษาได้ด้วยตัวเอง ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสมต่อไป
การป้องกันไม่ให้เชื้อรากลับมาเกิดซ้ำ ผู้เลี้ยงต้องหมั่นทำความสะอาดอวัยวะต่าง ๆ ของตัวเองทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง รวมถึงต้องอาบน้ำทำความสะอาดพวกมันอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ นอกจากนี้ต้องทำความสะอาดสิ่งของภายในบ้าน เช่น โซฟา หมอน พรม เป็นต้น
แม้ว่าโรคเชื้อราในสัตว์เลี้ยงจะไม่เป็นอันตรายมากมาย แต่ก็สร้างความรำคาญ และความกังวลใจให้กับผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรหมั่นล้างมือ และอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงเป็นประจำสม่ำเสมอ รวมถึงทำความสะอาดบริเวณที่ใช้ร่วมกันด้วย จะได้มีความปลอดภัยทั้งผู้เลี้ยงและสัตว์เลี้ยงของเรา
#เชื้อราในสัตว์เลี้ยง #เหล่าทาสต้องรู้ #สัตว์โลกน่ารัก