เมื่อสุนัขอายุล่วงเลยไป มีพฤติกรรมอะไรที่เราควรใส่ใจ

เมื่อสุนัขอายุล่วงเลยไป มีพฤติกรรมอะไรที่เราควรใส่ใจ

สุนัขที่เราเลี้ยงกันนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงที่ซื้อมาเลี้ยงตั้งแต่วัยเด็ก หรือรับเลี้ยงมาอีกต่อจากเจ้าของเดิม หรือแม้กระทั่งสุนัขที่ไม่มีเจ้าของแล้วรับมาเลี้ยงในช่วงระหว่างวัย ซึ่งบางตัวมาอยู่ในช่วงจังหวะที่อายุน้อยๆ จนถึงอายุกลางวัยสุนัข แต่ยังไงก็ตามสุนัขทุกตัวต้องผ่านช่วงเวลาที่เข้าสู่วัยชรา โดยนับตั้งแต่เมื่อวัยสุนัขเริ่มใกล้ 10 ปีแล้วจะถือว่าเริ่มเข้าสู่วัยสุนัขที่อายุมากแล้ว

ในวัยสุนัขที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นไม่เพียงแต่อายุ หรือลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็น สีขนที่เริ่มขาวขึ้น ดวงตาที่เริ่มขุ่น ฟันที่ค่อยๆ ร่วง แต่หมายรวมถึงพฤติกรรม และความมั่นคงทางจิตใจก็เปลี่ยนแปลงไป

การที่เราต้องมาใส่ใจในเรื่องนี้เพราะเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ภายใน หรือถ้าไม่สังเกตเป็นเวลานานหลายวัน หลายเดือนก็จะไม่รู้ว่าสุนัขตัวนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนลักษณะทางกายภาพที่สามารถสังเกต และเห็นได้ง่ายกว่า

ดังนั้นเมื่อสุนัขที่เราเลี้ยงนั้นเริ่มมีอายุที่มากขึ้น หรือใกล้เข้าสู่วัยชรา สิ่งที่เราควรเตรียมเมื่อเราเห็นความเปลี่ยนแปลงไปของสุนัขที่เราเลี้ยงแล้วคือ การปรับเปลี่ยนการดูแล และความเข้าใจที่ถูกต้องใหม่ คล้ายกับเรามีสุนัขตัวใหม่เข้ามาอยู่ด้วย 

1.ความมั่นคงทางจิตใจลดลง

ตรงนี้มีความสอดคล้องจากการเปลี่ยนแปลงไปทางกายภาพอย่างที่ได้กล่าวข้างต้นไปบางส่วนคือ การเดินที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม วิ่งได้น้อย กระดูกเปราะ ตามองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนเมื่อตอนอายุน้อยๆ มีผลให้กิจวัตรประจำวัน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ แม้กระทั่งการกินอาหาร การเดินเพื่อไปกินน้ำก็เป็นไปด้วยความลำบาก และสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อจิตใจของสุนัขเหล่านี้แน่นอน อย่างน้อยๆ ก็เรื่องการพึ่งพาตัวเองได้น้อยลง สิ่งที่เราควรเพิ่มคือ มีเวลาให้มากขึ้น ช่วยเหลือสุนัขในกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่นอาจต้องมีอุ้มมากขึ้น เดินน้อยลง พาออกเที่ยวสูดอากาศที่มีกลิ่นหญ้า ต้นไม้มากขึ้น เพื่อให้ทั้งร่างกาย และอารมณ์สดชื่น

2.ภาวะทางอารมณ์อ่อนไหวมากขึ้น ต่างจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ตรงนี้หากผู้เลี้ยงไม่มีเวลาสังเกตเห็นอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นในส่วนที่ต่างได้ และเมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงไปของสุนัขที่เลี้ยงไม่ว่าจะเป็น ภาวะขี้ตกใจ ตื่นกลัวตอนฝนตก เสียงฟ้าร้อง เสียงดังจากสิ่งต่างๆ ความสะเทือนจากวัตถุที่อยู่ใกล้ตัว 

โดยเฉพาะกับสุนัขที่ไม่ค่อยได้ร้อง เห่า แต่กลับมีเสียงร้องขอความช่วยเหลือเพียงแค่มีเส้นด้ายจากผ้าห่มเกี่ยวที่ขา ตรงนี้เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนในเรื่องอารมณ์ที่มีความกลัว และอ่อนไหวมากขึ้น ทางแก้เจ้าของควรมีเวลาให้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพราะช่วงเวลาอายุวัยนี้ก็เหมือนช่วงปลายของวัยสุนัข และเป็นช่วงเวลาที่สุนัขมีความต้องการเจ้าของมากกว่าช่วงเวลาที่ซน แข็งแรง มองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจน กินอาหารได้เร็วภายใน 10 นาที

3.ระดับอารมณ์ และความรู้สึกนิ่งเฉย ไม่ค่อยตื่นเต้นกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเหมือนเดิม

ตรงนี้สามารถปรับได้ง่ายๆ หากสุนัขที่เลี้ยงสุขภาพยังแข็งแรง สามารถเดินได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก หรือใหญ่ก็ตาม ใช้วิธีพาออกนอกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะใกล้บ้าน ต่างจังหวัด ทะเล หรือที่ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ มีกลิ่นต้นไม้ ใบหญ้า ที่สำคัญคือ เจ้าของต้องมีเวลาใกล้ชิดให้มากขึ้น

สุนัขจะมีประสาทสัมผัสเรื่องกลิ่นที่ละเอียด และไวดังนั้นเมื่อต้องการให้มีความตื่นเต้น หรือปลุกความอยากรู้อยากเห็น ช่วยเรื่องสภาพจิตใจให้ดีขึ้น การพาไปใกล้ชิดธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล ถือเป็นสิ่งที่ช่วยเยี่ยวยาที่ดีที่สุด

สุนัขเมื่อตอนเด็กอายุยังน้อยนั้นมีการเลี้ยงดูที่เราอาจมองว่าต้องมีความระวังในการเลี้ยงดูที่มาก เพราะการเดินยังไม่มั่นคง การกินยังเคี้ยวอาหารหลากหลายไม่ได้ เมื่อสุนัขเข้าสู่วัยชรา การดูแล เลี้ยงดูต้องมีการดูแลเรื่องความปลอดภัยทางร่างกาย และใส่ใจเรื่องอารมณ์ จิตใจที่มากกว่า เมื่อสุนัขเปรียบเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ดังนั้นเมื่อสุนัขมีความสุขทั้งทางร่างกาย และจิตใจก็จะสื่อให้เรามีความสุขร่วมกันไปด้วย

#พฤติกรรมที่เราควรใส่ใจ #สุนัข #สัตว์โลกน่ารัก