เมื่อเราเริ่มนำสุนัขมาเลี้ยงในบ้าน ตอนเห็นแรกเริ่มสบตาก็ดูน่ารักดีแต่ไม่มีใครรู้ว่านิสัยสุนัขที่เราเอามานั้นเป็นอย่างไร เช่น ดื้อ ว่านอนสอนง่าย กินยาก ขี้กลัว โลกส่วนตัวสูง ซึ่งนิสัยที่หลากหลายของสุนัขต่างๆ นั้นอาจเป็นจากตัวนิสัยสุนัขตัวนั้นที่อาจสืบต่อมาจากรุ่นพ่อแม่ หรือเป็นนิสัยที่โดนปลูกฝัง หรืออดีตที่ฝังใจจากที่เลี้ยง ร้านขายสุนัข หรือฟาร์มสุนัขเอง อย่างเช่น
ฟาร์มสุนัขที่เพาะขายต้องมีพาลูกสุนัขออกนอกสถานที่เพื่อไปงานขายทั้งตลาดนัด ทั้งงานแฟร์สุนัขต่างๆ ทำให้การขนย้าย หรือการดูแลที่ไม่ดีสักเท่าไหร่มีผลให้เกิดความฝังใจด้านลบกับสุนัขตั้งแต่วัยเด็กได้ หรือแม้กระทั่งสุนัขที่เคยมีเจ้าของแล้วโดนทิ้งก็เกิดความฝังใจด้านลบในตอนโตได้เหมือนกัน เรามาดูว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแล้วเราลบอดีตไม่ได้แต่สามารถแก้ไขอดีตของสุนัขตัวนั้นให้ค่อยๆ จางหายได้
1.สุนัขไม่ชอบอาบน้ำ
เรียกว่าสุนัขเกือบทุกตัวกลัวการอาบน้ำมักจะมีทีท่าวิ่งหนี ทำทุกอย่างเพื่อให้รอดพ้นการอาบน้ำให้ได้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งธรรมดาของเหล่าสุนัข แต่ว่าจะมีสุนัขบางตัวที่มีลักษณะกลัวการอาบน้ำมากเกินปกติ เช่น เรียกมาอาบน้ำนอกจากวิ่งหนียังมีสัญญาณทางร่างกายบ่งบอก ตัวสั่น ปัสสาวะราด พยายามเอาตัวหลบในที่แคบที่สุดเพื่อไม่ให้เราเอาตัวไปอาบได้ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าห่วง และควรรักษาที่จิตใจของสุนัขในอาการ และความรู้สึกกลัวก่อน อย่างเช่น หากค่อยๆ พาสุนัขเข้าห้องน้ำเพื่อนำเข้ามาอาบน้ำแล้ว ควรทำให้เป็นชั่วโมงที่เล่นสนุกกัน โดยช่วงแรกๆ ไม่ควรจดจ่อไปที่อาบน้ำให้สะอาดมากๆ
เริ่มต้นด้วยการหยดน้ำตามส่วนต่างๆ ของร่างกายสุนัขไม่ว่าจะเป็นตามตัวไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงหัว หยดน้ำทีละหยดต่อด้วยเอามือจุ่มน้ำสัมผัสที่เนื้อตัวของสุนัข เน้นที่การอาบน้ำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อรักษาอาการกลัวน้ำ กลัวการอาบน้ำ เวลาล้างแชมพูด้วยน้ำหากบ้านไหนใช้ขันก็ควรใช้ขันเล็กๆ ค่อยๆ ราดช้าๆ อย่าราดโครมเดียวหมดขันสุนัขอาจยิ่งเตลิดตกใจอาจทำให้การอาบน้ำครั้งหน้ายิ่งยากกว่าเดิม
หรือบ้านไหนใช้ฝักบัวควรเปิดให้เบา หรือระดับกลางๆ โดยเฉพาะล้างบนหัวสุนัขควรเอามืออีกข้างบังดวงตา หู และหัวอย่าให้น้ำกระทบโดยตรง ทั้งหมดนี้อาจมองดูว่าทะนุถนอมสุนัขแต่การอาบน้ำแรกๆ เพื่อเป็นการรักษาอาการกลัวแล้วความกลัวของสุนัขของเราจะค่อยๆ ดีขึ้น แนะนำว่าช่วงแรกๆ อย่านำสุนัขเราที่มีอาการกลัวการอาบน้ำอยู่แล้วไปเข้าอาบน้ำที่ร้านบริการอาบน้ำสุนัข สุนัขจะรู้สึกปลอดภัยที่สุดเวลาอยู่กับเจ้าของของเขา
2.สุนัขกลัวการตัดเล็บ
เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าของต้องส่ายหน้าทุกครั้งที่เดือนๆ หนึ่งเล็บของสุนัขตัวแสบของบ้านยาวแล้วไม่ยอมให้ตัด แถมพาไปร้านตัดเล็บยังกัดคนที่จะตัดเล็บให้อีก หากตัดเล็บเองไม่ได้จริงๆ ต้องพึ่งร้านกรูมมิ่งจะมี 2 ลักษณะคือ
2.1ควรยืนอยู่กับสุนัขของเราด้วย
ในกรณีสุนัขของเราเกรงกลัวเรา ยืนอยู่เพื่อให้สุนัขเราไม่กัด หรือทำร้ายคนตัดเล็บอีกทั้งยังสามารถช่วยจับได้ด้วย แต่ไม่ใช่การทำให้กลัวอย่างเดียวควรให้สุนัขรู้สึกอยู่ในสภาวะที่สบายใจด้วย
2.2ปล่อยให้สุนัขอยู่กับคนตัดเล็บลำพัง
ใช้ในกรณีที่เราเป็นคนที่เอาใจสุนัขเป็นอย่างมากจนสุนัขรู้สึกว่าอยากได้อะไรก็ได้เมื่ออยู่ใกล้กับเจ้าของ ถ้าเรายืนอยู่ขณะสุนัขตัดเล็บจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สุนัขเกิดอาการดื้อมากขึ้น ไม่ยอมให้ตัดเล็บ ดิ้นมากขึ้น จะยิ่งทำให้การตัดเล็บลำบากมากกว่าเดิม แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ 2 สถานการณ์คือ อย่าให้เกิดเหตุการณ์ตัดเล็บแล้วโดนเนื้อ หรือเลือดไหลเพราะจากที่จะรักษาสภาพจิตใจในเรื่องกลัวการตัดเล็บให้ดีขึ้น จะยิ่งทำให้จุดฝังใจเรื่องการตัดเล็บฝังลึกกว่าเดิม คราวหน้าแค่สัมผัส หรือจับเท้าอาจทำไม่ได้เลยก็เป็นได้
3.สุนัขขี้ตกใจ
อาการแบบนี้เราสังเกตได้จากเวลาที่สุนัขมองอะไรทางหนึ่ง แล้วเราอยู่อีกทางหนึ่งอาจยืนเฉยๆ แล้วสุนัขหันมาเจอก็ทำให้ตกใจโดยที่เราไม่ได้สัมผัส หรือแตะอะไรที่ตัว อีกแบบคือ เราไปแตะตัวสุนัขในทางที่สุนัขไม่คาดคิดว่าเราจะยืนอยู่ตรงจุดนั้น มีอาการสะดุ้งตกใจ บางตัวตกใจดูออกจากหน้า ตา แต่บางตัวอาการหนักกว่าคือ ตัวก็เกิดสะดุ้งขึ้นมาด้วย สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากตอนเด็กที่เกิดจากที่เลี้ยงตั้งแต่แรกที่เราไปซื้อมา นำมาอาจมีการขนย้าย พาไปขายในหลายสถานที่แล้วมีการขนย้ายที่รุนแรง รถสะเทือน
หรือแม้แต่ตอนที่มาอยู่กับเราอาจเป็นเรา หรือคนที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันที่อาจทำร้าย หรือชอบแกล้ง อย่างเช่น ลับสายตาเจ้าของ หรือเรา แอบเอาม้วนหนังสือพิมพ์ตี ดึงหาง ดึงหู โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กๆ ต้องระวังที่จะแกล้งสุนัข
ตรงนี้ควรแก้ตรงหากเราเห็นสุนัขสะดุ้ง ตกใจ เข้าไปกอดสุนัขทันทีแบบเบาๆ อย่างแน่นเกินเพราะยิ่งจะทำให้เกิดความตกใจมากขึ้นเพราะสุนัขรู้สึกหายใจไม่ออก อึดอัด จากนั้นลูบหัว เกาคาง หอมหัว หอมแก้ม ทำแบบนี้บ่อยๆ อย่าใจร้อนทำไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง
อาการฝังใจทางลบของสุนัขเราอาจจะต้องใจเย็นที่จะค่อยๆ รักษาให้สิ่งเหล่าค่อยๆ หายไปจากสุนัข อาจไม่ได้รวดเร็วต้องใช้เวลา ทำไปเรื่อยๆ แล้วจะหายไปเองโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะสิ่งที่ฝังใจด้านลบที่ติดกับตัวสุนัขใช้เวลานานในการเพาะบ่มความรู้สึกไม่ดีเหล่านี้เข้าไปในจิตใจ การรักษาก็คล้ายกับการต้องค่อยๆ แก้ปมที่ละชั้นให้คลายลงเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ให้สุนัขเชื่อในความรักที่เรามีให้เพราะความรักสามารถรักษาได้ทุกอย่างรวมทั้งปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นทางใจก็ต้องใช้ใจรักษา
#สุนัข #การเลี้ยงสุนัข #สัตว์โลกน่ารัก